จับตา 3 ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง กดดันเศรษฐกิจไทย หลังแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
วันที่ 1 ก.ค. ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมือง กำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ทั้งเรื่องความเชื่อมั่น การขับเคลื่อนนโยบาย และผลกระทบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
3 ปัจจัยการเมืองกระทบเศรษฐกิจไทย
1.ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที
2.การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลง หากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภา ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้า กระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
3.ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ น่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น
สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้