ค่าเงินผันผวนสูงครึ่งปีหลัง เจอความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐ

2025-07-03    HaiPress

กรุงศรี โกลบอลฯ คาดค่าเงินผันผวนสูงในครึ่งปีหลัง จากความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐ ประเมินกรอบไตรมาสสุดท้ายของปีไว้ที่ 31.75-34.00 บาทต่อดอลลาร์

นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน พบว่ามีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบและเป็นความท้าทายต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ จะยังคงขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยเช่นกัน

“ในปี 2568 กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มุ่งสร้างการเติบโตของธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนด 4 กลยุทธ์หลักซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่ การขยายฐานธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยในไตรมาส 1/2568 ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตมากกว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการส่งออกและนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้ เราคาดว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย 4 กลยุทธ์หลักนี้”

กลยุทธ์หลักในการดำเนินงานของกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ในปี 2568 ประกอบด้วย

1.การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG: นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกรรมอนุพันธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับ ESG (ESG-linked Interest Rate Derivatives) และผลิตภัณฑ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่อ้างอิงกับ ESG (ESG-linked FX) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณซื้อขายผลิตภัณฑ์ ESG-linked FX อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่: เพิ่มความสามารถของสกุลเงินเกิดใหม่ (Emerging Currency) โดยในปีที่ผ่านมา กรุงศรีสามารถขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับธุรกรรมสกุลเงินเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (AED) และธุรกรรมปริวรรตเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมเงินสกุลเปโซเม็กซิโก (MXN) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้าที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ โดยในปี 2567 ธนาคารมีปริมาณธุรกรรมในการใช้ธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

3.การขยายฐานธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล: พัฒนาทั้งในแง่เทคโนโลยี และความสามารถในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องให้มีความหลากหลาย สะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการ โดยในปี 2567 มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 138% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและในไตรมาส 1/2568 มีจำนวนธุรกรรม FX ที่ทำผ่านแพลตฟอร์ม FX@Krungsri สูงถึง 26% ของธุรกรรม FX ที่สามารถซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

4.การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่แก่ลูกค้า: มุ่งขยายขีดความสามารถในการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปริวรรตเงินตราต่างประเทศและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2567 กรุงศรีได้ออกผลิตภัณฑ์สัญญาซื้อขายตราสารหนี้ล่วงหน้า (Bond Forward) ที่ลูกค้าและนักลงทุนสามารถใช้ในการลดความเสี่ยงด้านตลาดและด้านสภาพคล่องในการกำหนดราคาซื้อขายพันธบัตร

นอกจากนี้ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังได้ให้ข้อมูลภาพรวมของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ดังนี้ นโยบายกำแพงภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์กดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ชะลอตัวจะเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงต่อในระยะข้างหน้า

อีกทั้งความกังวลของตลาดเกี่ยวกับสถานะการคลังสหรัฐ ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงผู้ค้าสำคัญของสหรัฐ มีเวลาที่จะเตรียมตัวตั้งรับด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า แม้ในกรณีที่ความตึงเครียดด้านการค้าคลี่คลายลง การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์จะถูกจำกัดด้วยความเชื่อมั่นที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นผลของนโยบายการค้าสุดโต่งและปรับเปลี่ยนไปมา

“กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมาผันผวนสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และผลต่อต้นทุนพลังงาน โดยประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568 ในกรอบกว้างที่ 31.75-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานสำคัญที่ว่าสหรัฐอาจลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกยังคงดำเนินต่อไป”

“สกุลเงินของเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกสูง รวมถึงเงินบาท อาจอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น เงินเยน และเงินยูโร ขณะที่การค้าโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา อนึ่ง คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากระดับ 1.75% ในปัจจุบัน เพื่อประคองเศรษฐกิจซึ่งเผชิญหลากหลายความเสี่ยงด้านขาลง”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

Back to top
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายชีวิตไทย      ติดต่อเรา   SiteMap