พิษทรัมป์ 2.0 ก่อสงครามการค้า ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตแค่ 2.4% ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมไทยเหนื่อย แข่งขันจีนยาก
วันที่ 4 ธ.ค. น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะเติบโต 2.4% ช้าลงกว่าปี 67 เล็กน้อยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% จากแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด และส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลงจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ทั้งทางตรงผ่านตลาดส่งออกสหรัฐ และทางอ้อมผ่านตลาดอื่นๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน
ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาจากเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง และการลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 67 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีนท่ามกลางขีดความสามารถที่ลดลง
น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้อยู่ที่ 3.6% และทั้งปี 67 เติบโต 2.6% ส่วนที่ปี 68 เติบโตเพียง 2.4% เพราะการท่องเที่ยว ที่ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37.5 ล้านคน และเจอสงครามการค้า รวมทั้งการใช้จ่ายที่ยังมีกดดันจากหนี้ครัวเรือน โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ดูได้จากการขาดดุลการค้ากับสหรัฐ,ค่าเงินอ่อนค่า หลักๆ ประมาณ 5%,มาตรการกีดกันการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี กีดกันไม่ให้สหรัฐนำเข้ามา เกิน 1 หมื่นดอลลาร์ เป็นต้น
สำหรับในไทย ถ้าติดใน 15 ประเทศที่สหรัฐจับตา จะมีผลกระทบคือการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ ยางล้อรถยนต์ ขณะที่ถ้าจีนโดนเก็บภาษี 60% จะทำให้มีการไหลเข้ามาของสินค้าจีน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค รถยนต์ เหล็ก และกระทบมายังภาคการผลิตของไทยที่แข่งขันกับจีนยาก
“เศรษฐกิจไทยปี 68 นอกจากสงครามการค้าแล้วยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการภาครัฐ ที่มีแผนเก็บขึ้นภาษีบางตัว และลดภาษีบางตัว ต้องรอดูรายละเอียด รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และยังกระทบภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนจีดีพีประเมินปีหน้า 2.4% ยังไม่รวมขึ้นแวตและลดภาษีนิติบุคคลที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้”
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 68 สถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งสงครามการค้าภายใต้ทรัมป์ 2.0 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและการผลิต มาตรการภาครัฐบางเรื่องที่อาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้างที่ยังทำให้การใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ขณะที่กลุ่มที่ยังฟื้นได้ช้า จะเป็นธุรกิจขนาดกลางลงล่าง โดยมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น อาจลดลงอีก ส่วนในภาคการค้าและบริการ แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่มแต่การยืนระยะทางธุรกิจก็คงไม่ง่ายเช่นกัน