เงินเฟ้อ พ.ย. พุ่ง 0.95% สูงสุด 3 เดือน คาดทั้งปีนี้ 0.5%

2024-12-05    HaiPress

เงินเฟ้อ พ.ย. พุ่ง 0.95% สูงสุด 3 เดือน สินค้าดาหน้าขึ้นราคา 155 รายการ ข้าวสาร ค่าเช่าบ้าน ผักสด น้ำมัน คาดทั้งปีนี้ 0.5% ยังขอเวลารวบรวมข้อมูล ข่าวคลังขึ้น VAT

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. 67 เท่ากับ 108.47 เพิ่มขึ้น 0.95% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งขยายตัวมากสุดในรอบ 3 เดือน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนติดลบ 0.13% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 11 เดือนอยู่ที่ 0.32%  โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

“ภาพรวมราคาสินค้าในเดือน พ.ย.นั้น มีสินค้าราคาเพิ่มขึ้น 170 รายการ อาทิ ข้าวสาร ผักสด น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าบ้าน ราคาเท่าเดิม 155 รายการ เช่น เสื้อผ้า ค่าน้ำ ค่ารถแท็กซี่ และราคาลดลง 105 รายการ อาทิ ไก่สด ไข่ไก่ ผลไม้ ผักบางชนิด โดยเงินเฟ้อไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุด ต.ค. 67 พบว่าไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 23 จาก 132 เขตเศรษฐกิจ และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน  ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อเทียบกับปีก่อนสูงขึ้น 0.80% และทั้งปีอยู่ที่ 0.55%”

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 อยู่ระหว่าง 0.2–0.8% โดยมีค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน  โดยเดือน ธ.ค.คาดว่าจะสูงขึ้น 1.2-1.3% สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่ม และมีผลต่อราคาน้ำมันในภาคใต้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และราคาผักสด แต่ภาคใต้ราคาปรับลดลงมากกว่าภาคอื่น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กรณี รมว.คลัง ระบุว่าเงินเฟ้อปีนี้ไม่น่าปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.6-0.7% นั้น เป็นความเห็นที่สอดคล้องกันกับการประมาณการเดือน ธ.ค. 67 ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 1.2-1.3%  ส่วนแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกมานั้น ต้องขอเวลาไปรวบรวมข้อมูลก่อน เพื่อความชัดเจนอีกสักระยะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ดูเรื่องนี้

ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 68 คาดอยู่ระหว่าง 0.3–1.3 ค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 67 ประกอบกับมีการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท

ขณะที่ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ มาจากภาครัฐมีแนวโน้มใช้มาตรการลดภาระค่าครองชีพต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ราคาผักและผลไม้สดจะลดลงจากปีก่อน หลังสถานการณ์เอลนีโญและลานีญาสิ้นสุดลง การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด รวมถึงดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลกขาลง

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

Back to top
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายชีวิตไทย      ติดต่อเรา   SiteMap