ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 6 สัปดาห์ เกาะติดตัวเลขเศรษฐกิจ-ส่งออกไทย

2024-10-26    HaiPress

สรุปค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ ขยับแตะอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สอดคล้องทิศทางสกุลเงินในเอเชีย จับตาตัวเลขการส่งออกของไทย รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นในเอเชีย ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ (นับตั้งแต่ 11 ก.ย. 2567) ที่ระดับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับภาพการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียและเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 1 ปี และ 5 ปีลง

ขณะที่เงินดอลลาร์ ขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับตลาดมีการปรับมุมมองบางส่วนในการเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในครั้งนี้

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ ที่มีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นสำหรับเดือน ต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,781 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,094 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 4,084 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 10 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก/รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือน ต.ค. มาตรวัดตลาดแรงงานจาก JOLTS ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือน ก.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น (27 ต.ค.) ผลการประชุม BOJ (30-31 ต.ค.) ดัชนี PMI เดือน ต.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

Back to top
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายชีวิตไทย      ติดต่อเรา   SiteMap