‘อมรเทพ’ มั่นใจดอกเบี้ยไทยเหลือ 1.5% ปี 68 ช่วยเร่งเครื่องเศรษฐกิจ

2024-07-10    HaiPress

‘อมรเทพ CIMBT’ มั่นใจแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ปี 68 ช่วยเร่งเครื่องเศรษฐกิจ รักษาสมดุล-ปรับโครงสร้าง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประเมินทิศทางดอกเบี้ยของไทย คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในเดือน ธ.ค. นี้ จะมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% และจะเห็นการลดดอกเบี้ยจนสู่ระดับ 1.5% ในปี 68 เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 68 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย รวมทั้งรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ เร่งปรับโครงสร้าง

นอกจากนี้ ซีไอเอ็มบีไทย คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีขยายตัว 2.3% ในปีนี้ และในปี 68 จีดีพีขยายตัว 3.2% โดยเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสอง นอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำ รายได้ยังกระจุกในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาคการผลิตกลับหดตัวและน่าเป็นห่วง ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย เอกชนชะลอการลงทุนโดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัว การส่งออกยังฟื้นไม่ชัดเจน มีตัวแปรที่เสริมจากไตรมาสหนึ่งคือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวนับจากเดือน พ.ค. ซึ่งน่าพอพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปได้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 67 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง

“ดิจิทัลวอลเล็ตอาจทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.5% เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย แต่ต้องจับตาว่ากระตุ้นบริโภคได้แค่ไหน ดิจิทัลวอลเล็ตสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ระยะสั้น มองว่ามาตรการการคลังมีส่วนสำคัญ ขณะที่มาตรการการเงิน ใช้เวลา 6 เดือน และมองว่ารักษาเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งใช้เวลามากกว่าการคลังที่สามารถเร่งเศรษฐกิจทันที เช่น ประคองค่าใช้จ่ายลดค่าครองชีพ คุณภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ มีปัญหากระจายตัว กลุ่มบริการ ท่องเที่ยว กำลังซื้อระดับล่างอ่อนแอ การแจกเงินเฉพาะกลุ่ม ลดค่าครองชีพเฉพาะกลุ่ม แก้ปัญหาได้”

นายอมรเทพ กล่าวว่า เป็นห่วงสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าประเทศไทย จนกระทบกับผู้ประกอบการผู้ผลิตไทย หากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน ซึ่งจากการที่จีนยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก ซึ่งที่จริงจีนน่าจะผลิตลดลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทย

“ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลงจนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและเร่งให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวได้ในไม่ช้า”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

Back to top
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายชีวิตไทย      ติดต่อเรา   SiteMap