แบงก์ตอบรับธปท. มาตรการบัญชีม้า เข้มเปิดบัญชีใหม่ ตัดตอนมิจฉาชีพ

2024-06-17    HaiPress

สมาคมธนาคารไทย-สมาคมแบงก์รัฐ เด้งรับมาตรการแบงก์ชาติสกัดบัญชีม้า ยกระดับความเข้มข้นเปิดบัญชีใหม่ พัฒนาโมบายแบงก์กิ้ง ป้องกันคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยมุ่งการป้องกันและจัดการกับปัญหาบัญชีม้า เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับมิจฉาชีพในการรับ-ส่งเงินที่ได้จากการหลอกลวงประชาชนรวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางการเงินให้กับประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงปัญหาภัยคุกคามทางการเงินที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนยกระดับมาตรการจัดการภัยคุกคามทางการเงิน และการจัดการบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง มีแนวทางปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น สอดรับกับรูปแบบภัยการเงินที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อดูแลลูกค้าและสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศ

โดยสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. โดยจัดทำแนวทางปฎิบัติภาคธนาคารร่วมกัน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการป้องกันบัญชีม้าที่จะเปิดใหม่ และการขยายผลตรวจจับบัญชีม้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะยกระดับการป้องกันบัญชีม้า 2 ส่วน ดังนี้

1. มาตรการป้องกันบัญชีม้าเปิดใหม่ โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงของบุคคลที่มาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารว่า มีแนวโน้มจะนำบัญชีไปใช้ทุจริตหรือไม่ เช่น การเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่สำหรับกลุ่มบุคคลที่อยู่ในรายชื่อบุคคลมีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มบุคคลที่มีข้อสงสัยว่า อาจเป็นบัญชีม้า หรือ เคยเป็นบัญชีม้ามาก่อน

2. มาตรการขยายผลการตรวจจับและการจัดการบัญชีม้าให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีที่อาจเป็นบัญชีม้าข้ามธนาคาร การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีบัญชีกับธนาคาร (กระบวนการ CDD) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหน่วยงานราชการกับธนาคาร เป็นต้น เพื่อให้แต่ละธนาคารนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการตรวจจับบัญชีต้องสงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อธนาคารตรวจพบบัญชีต้องสงสัย จะดำเนินการตามมาตรการขั้นต่ำ โดยระงับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ทันที เพื่อให้เจ้าของบัญชียืนยันตัวตน และแสดงหลักฐานว่าเป็นผู้ใช้บัญชีจริง และไม่ได้นำบัญชีไปใช้ทำทุจริต พร้อมนำส่งข้อมูลบัญชีต้องสงสัยไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองเพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยต่อไป โดยปัจจุบันธนาคารได้ปิดช่องทางออนไลน์ของบัญชีต้องสงสัยไปแล้วกว่า 300,000 บัญชี

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ขอให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการเปิดบัญชีม้า หรือยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีของตนเป็นบัญชีม้าว่า มีโทษตามกฎหมาย อีกทั้ง ภาคธนาคารมีมาตรการจัดการที่เข้มงวด เช่น การพิจารณาระงับการใช้งานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดทันที และพิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่ ตลอดจนมาตรการอื่นที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติม รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์หรือพัฒนากำหนดฟังก์ชั่นการใช้งานของโมบายแบงกิ้งเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับลูกค้าในอนาคต

โดยภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ หรือ การทำธุรกรรมของลูกค้าทั่วไป โดยปริมาณธุรกรรมที่ต้องสงสัย นับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับธุรกรรมทั้งหมดในระบบของธนาคาร โดยสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกเชื่อมั่นว่า มาตรการดังกล่าว จะทำให้สามารถตรวจจับบัญชีม้าในระบบ และลดบัญชีม้าเกิดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Telco) เพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดการภัยคุกคามทางการเงินในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

นายวิทัย รัตนากร ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ทุกธนาคารดำเนินนโยบายมาตรการบริหารจัดการภัยทุจริตทางการเงินนั้น สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ได้ปรับปรุงการให้บริการทางการเงิน ด้วยแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องตามมาตรการ และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับสมาคมธนาคารไทย ทั้งด้านธรรมาภิบาลและด้านการบริหารจัดการภัยทุจริต เพื่อให้มีมาตรการป้องกัน ตรวจจับภัยทุจริตทางการเงิน ตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งได้มีการร่วมหารือ การให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ระหว่างธนาคารสมาชิกตลอดที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินของรัฐ ยังมีกลุ่มลูกค้าบางส่วนที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องให้การดูแลและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มลูกค้าฐานรากและภาคเกษตรที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารหรือการประชาสัมพันธ์การแจ้งภัยทุจริตทางการเงิน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จึงมีแผนในการพัฒนาและยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยของ Mobile Banking หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ให้สอดคล้องกับมาตรการบริหารจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ด้วยการจำกัดการโอนเงินเฉพาะระหว่างบัญชีของตนเอง บุคคลในครอบครัว และการสแกนจ่ายภายในวงเงินที่จำกัด เป็นต้น

ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กังวลภัยจากมิจฉาชีพที่หลอกให้โหลดแอปดูดเงิน การข่มขู่หรือหลอกลวงให้โอนเงิน การหลอกให้ลงทุน หรือผู้ที่ไม่กล้าใช้ Mobile Banking โดยมีแผนจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 3 ถึง 6 เดือน ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสินจะออก Function ใหม่ ที่เรียกว่า MyMo Secure Plus ที่จะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

Back to top
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายชีวิตไทย      ติดต่อเรา   SiteMap